โรคผิวหนังอักเสบภูมิแพ้ (ATOPIC DERMATITIS)
โรคผิวหนังอักเสบภูมิแพ้ เป็นโรคผิวหนังอักเสบที่อาการเกิดขึ้นเป็นครั้งคราว พบบ่อยในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ สาเหตุหลักมักเกิดจากปัจจัยพื้นฐานทางพันธุกรรม กล่าวคือ ในผู้ป่วยที่มีประวัติเยื่อบุตาอักเสบ แพ้อากาศ ไอ จาม หรือหอบหืด มักจะมีคนในครอบครัวผู้ป่วยที่มีประวัติโรคภูมิแพ้ของเยื่อบุต่าง ๆ เช่นกัน
ผู้ป่วยโรคผิวหนังอักเสบภูมิแพ้ไม่ได้เกิดจากการแพ้อาหารหรือสารเคมีอย่างใดอย่างหนึ่งโดยเฉพาะ แต่เกิดจากผิวหนังของผู้ป่วยไว (sensitive) ต่อสภาพแวดล้อมรอบตัว ทั้งสภาพร้อน เย็น แห้ง ชื้น เชื้อโรคและสารเคมีที่ระคายผิวหนัง อย่างไรก็ตามผู้ที่ไม่มีประวัติภูมิแพ้ในครอบครัวเลยก็เป็นโรคนี้ได้เช่นเดียวกัน ทั้งนี้เพราะความผิดปกติซ่อนเร้นอยู่ในยีนของครอบครัวผู้ป่วยโดยไม่เกิดอาการก็ได้
สาหตุอื่นๆที่สามารถกระตุ้นอาการภูมิแพ้มีดังนี้

1. เชื้อโรคและไรฝุ่น
เช่น แบคทีเรีย เชื้อรา อาจแทรกซ้อนทำให้เกิดการติดเชื้อบนผิวหนังของผู้ป่วย ผิวหนังที่อักเสบอยู่เดิมจะกำเริบมากขึ้น
2. สบู่ ครีม โลชั่น และผงซักฟอกที่ใช้เป็นประจำ
สารเคมีเหล่านี้มีฤทธิ์ละลายไขมัน หรือ/และอาจมีส่วนประกอบที่ก่ออาการระคายเคืองแก่ผิวหนังทำให้เกิดอาการคันและเป็นผื่นผิวหนังอักเสบได้ง่าย
3. แพ้อาหาร
ในผู้ป่วยกลุ่มนี้ประมาณ 10% พบว่าอาหารบางชนิดเป็นตัวกระตุ้นให้ผื่นแย่ลง มักพบในผู้ป่วยเด็ก เช่น นม ไข่ ถั่วเหลือง เนื้อสัตว์บางประเภท
4. สภาวะแวดล้อม
เช่น สภาวะที่มีละอองเกสร ขนสัตว์ ฝุ่นควัน สิ่งเหล่านี้ทำให้ผื่นมีอาการคันมากขึ้น
5. การสัมผัสกับขนสัตว์ หรือสวมใส่เสื้อผ้าที่ทำจากขนสัตว์
การสัมผัสกับสัตว์ที่มีขน หรือสวมเสื้อผ้า เครื่องนุ่มห่ม และเครื่องประดับที่ทำขึ้นหรือมีส่วนประกอบของขนสัตว์ จะทำให้เกิดการคันเพิ่มเติมได้
วิธีการดูแลและรักษา
1. หลีกเลี่ยงสิ่งต่าง ๆ ที่ทำให้โรคกำเริบมากขึ้น เช่นไม่อยู่ในห้องปรับอากาศที่เย็นจัด ไม่อาบน้ำที่มีอุณหภูมิเย็นหรือร้อนจัด และควรหลีกเลี่ยงภาวะที่ทำให้เหงื่อออกมาก
2. ควรรับประทานยาต้านฮิสตามีน ลดอาการคัด เมื่อมีอาการคันควรรับประทานยาต้านฮิสตามีน วันละ 2-3 ครั้งติดต่อ เว้น 5-7 วัน เพื่อลดอาการคัน เพราะอาการคัดทำให้ผู้ป่วยต้องแกะเกาผิวหนัง ผื่นผิวหนังที่อักเสบจะกำเริบขึ้นได้ ยากลุ่มนี้ได้แก่คลอเฟนนิลามีน สามารถซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป ข้อที่ควรระวังคือ ยานี้มีผลข้างเคียงคือ อาการง่วงนอน
3. ยาทากลุ่มสเตรียรอยด์ มีฤทธิ์ลดการอักเสบของผื่นผิวหนัง ควรใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์ เพราะโรคกลุ่มนี้ต้องใช้ยานาน อาจมีอาการข้างเคียงเกิดขึ้นได้ ถ้าใช้ยาไม่ถูกต้อง
4. กรณีที่มีตุ่มหนองเกิดแทรกซ้อนบนตุ่มหรือผื่นแดง แสดงว่ามีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน ควรปรึกษาแพทย์เพราะผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับยาปฏิชีวนะ เพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรีย